วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การกำจัดขยะมูลฝอย ตอนที่ 1


      วิธีการกำจัดขยะมูลฝอย ( Method of Refuse Disposal ) มีหลายวิธีด้วยกัน เป็นวิธีที่ดีถูกสุขลักษณะบ้างไม่ถูกสุขลักษณะบ้าง เช่น นำไปกองไว้บนพื้นดิน, นำไปทิ้งทะเล, นำไป
ฝังกลบ, ใช้ปรับปรุงพื้นที่, เผา, หมักทำปุ๋ย, ใช้เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ การจัดการและการกำจัดขยะ แต่ละวิธีต่างมีข้อดีข้อเสียต่างกัน การพิจารณาว่าจะเลือกใช้วิธีใดต้องอาศัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ปริมาณของขยะที่เกิดขึ้น รูปแบบการบริหารของท้องถิ่น, งบประมาณ, ชนิด – ลักษณะสมบัติของขยะมูลฝอย, ขนาด สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ที่จะใช้กำจัดขยะมูลฝอย, เครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่, ความร่วมมือของประชาชน, ประโยชน์ที่ควรจะได้รับ, คุณสมบัติของขยะ เช่น ปริมาณของอินทรีย์ อนินทรีย์สาร การปนเปื้อนของสารเคมีที่มีพิษและเชื้อโรค ปริมาณของของแข็งชนิดต่าง ๆ ความหนาแน่น ความชื้น 

      ขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองมีแหล่งที่มาจาก อาคาร บ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน โรงงาน อุตสาหกรรม โรงพยาบาล ตลาด และสถานที่ราชการ ขยะที่ทิ้งในแต่ละวันจะประกอบด้วยเศษอาหาร กระดาษ เศษแก้ว เศษไม้ พลาสติก เศษดิน เศษหิน ขี้เถ้า เศษผ้า และใบไม้ กิ่งไม้ โดยมีปริมาณของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน 
        การกำจัดขยะมูลฝอย ถ้าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการจะก่อให้เกิดผลกระทบ เสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เกิดผลร้ายต่อชีวิต เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย การกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะจะต้องมีลักษณะ ดังนี้ 
          1. ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ เสียหายต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข 
และวิถีชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนองค์ประกอบของสังคมด้านใด ๆ 

        2. ต้องไม่ก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์หรือแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงวัน แมลงสาบ หนู ยุง สัตว์พิษ ที่กัดต่อยมนุษย์ สัตว์เลี้ยง เช่น ตะขาบ งู 

       3. ต้องไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อน รำคาญ ขัดประโยชน์ ต่อประชาชนในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน อันเนื่องมาจากฝุ่นละออง เสียงดัง กลิ่นเหม็น อุจจาดตา เศษขยะปลิวกระจายเกะกะ ฯลฯ 

          4. ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน มลพิษทางทัศนียภาพ 

        การกำจัดขยะมูลฝอยในแต่ละวิธีต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ฉะนั้นควรเลือกวิธีที่เหมาะสม ของแต่ละพื้นที่ โดยกระทำควบคู่กันไปทั้งการลดปริมาณขยะมูลฝอย การนำกลับไปใช้ใหม่ และการกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งสำคัญที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ การลดปริมาณขยะ ซึ่งมีแผนหรือแนวคิด 5 R. 

         R. 1 ( Reduce ) เป็นการลดปริมาณมูลฝอยที่อาจเกิดขึ้น เช่น ใช้ตะกร้าใส่ของแทนถุงพลาสติก การลดปริมาณวัสดุ ( Reduce material volume ) เป็นการพยายามเลือกใช้สินค้าที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่แทนบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก เพื่อลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะมูลฝอย การลดความเป็นพิษ ( Reduced toxicit ) เป็นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

         R. 2 ( Reuse ) นำขยะมูลฝอยเศษวัสดุมาใช้ใหม่อีกหรือเป็นการใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก ๆ เช่น ขวดน้ำหวาน นำมาบรรจุน้ำดื่ม ขวดกาแฟที่หมดแล้ว นำมาใส่น้ำตาล การนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ( Product reuse ) เป็นการพยายามใช้สิ่งของต่าง ๆ หลาย ๆ ครั้ง ก่อนที่จะทิ้งหรือเลือกใช้ของใหม่ 

         R. 3 ( Repair ) การนำมาแก้ไข นำวัสดุอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งจะทิ้งเป็นมูลฝอยมาซ่อมแซมใช้ใหม่ เช่น เก้าอี้ 

         R. 4 ( Recycle ) การหมุนเวียนกลับมาใช้ นำขยะมาแปรรูป ตามกระบวนการของแต่ละประเภท เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพจากเดิมแล้วนำมาใช้ใหม่ เช่น พลาสติก กระดาษ ขวด โลหะต่าง ๆ ฯลฯ นำมาหลอมใหม่ นำยางรถยนต์ที่ใช้ไม่ได้แล้วมาทำรองเท้า นำแก้วแตกมาหลอมผลิตเป็นแก้วหรือกระจกใหม่ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ( Material recycling ) เป็นการนำวัสดุมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ 

         R. 5 ( Reject ) การหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ทำลายยาก หรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น โฟม ปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก หลีกเลี่ยงการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ 



การกำจัดขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ใช้วิธีการทำลาย 4 วิธี คือ 

      1. วิธีหมักเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงงานหมักขยะอยู่ 2 โรงงาน คือ โรงงานหมักขยะที่อยู่ซอยอ่อนนุช และที่หนองแขม โรงงานทั้งสองมีความสามารถรับขยะไปหมักเป็นปุ๋ยได้เพียง 100 ตัน / วัน ดังนั้นขยะที่เหลือจากการนำเข้าโรงงานจึงถูกนำไปเทกองทิ้งไว้กลางแจ้งให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ( ขณะนี้ที่รามอินทรายกเลิกการดำเนินงาน ทั้งโรงงานหมักปุ๋ยอินทรีย์และที่เทกองกลางแจ้ง รวมทั้งยกเลิกเทกองขยะมูลฝอยที่ซอยวัชรพลด้วย ) 
      2. การเทกองกลางแจ้งให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ มีสถานที่เทกองกลางแจ้ง 3 แห้ง คือ บริเวณโรงหมักขยะอ่อนนุช หนองแขม และสถานีขนถ่ายมูลฝอยแขวงท่าแร้ง 
      3. การเผา การเผาขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร จะทำเฉพาะขยะมูลฝอยติดเชื้อที่เก็บมาจากสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และขยะมูลฝอยส่วนที่ถูกแยกออกมาจากขยะมูลฝอยของโรงงานซึ่งไม่สามารถใช้หมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ 
      4. การฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ กรุงเทพมหานครได้จ้างเอกชนให้นำขยะมูลฝอยจากโรงงานกำจัดขยะหนองแขมและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยท่าแร้ง เขตบางเขน ไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะที่ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม


     สัปดาห์หน้ามาติดตาม การกำจัดขยะมูลฝอย ตอนที่ 2 กันนะคะ



วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รู้หรือไม่?...ขยะมาจากไหน


ทุกวันนี้คนไทยกว่า 60 ล้านคน สามารถสร้างขยะได้มากถึง 14 ล้านตันต่อปี แต่ความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับมีไม่ถึง 70 % ของขยะที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างตามสถานที่ต่างๆ หรือมีการนำไปกำจัด โดยวิธีกองบนพื้นซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ 
1. อากาศเสีย เกิดจากการเผาขยะมูลฝอยกลางแจ้ง ทำให้เกิดควันและสารมลพิษทางอากาศ
             2. น้ำเสีย เกิดจากการกองขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้น เมื่อฝนตกจะเกิดน้ำเสีย ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้เกิดภาวะมลพิษทางน้ำ
             3. แหล่งพาหนะนำโรค จากขยะมูลฝอยตกค้างบนพื้น จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนูและแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหนะนำโรคติดต่อ ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
             4. เหตุรำคาญและความไม่น่าดู จากการเก็บขยะมูลฝอยไม่หมด ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน

ประเภทของขยะมูลฝอย 
          แบ่งออกเป็นประเภทที่สำคัญๆได้ 10 ประเภท คือ
                  1. เศษอาหาร ขยะจำพวกที่ได้จากห้องครัว การประกอบอาหาร รวมถึงเศษใบตอง เศษผลไม้ อาหารที่เหลือทิ้ง ฯลฯ 
                  2. ของที่ไม่เน่าเหม็น ขยะจำพวกที่ไม่บูดเน่าส่งกลิ่นเหม็น มีความชื้นต่ำ เช่น เศษกระดาษ เศษแก้ว เศษโลหะ เป็นต้น อาจเรียกขยะแห้งก็ได้ 
                  3. เถ้าถ่าน เศษที่เหลือจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง จำพวกไม้ ถ่านหิน 
                  4. มูลฝอยจากถนน เศษสิ่งของต่างๆ ที่ได้จากการกวาดถนน ส่วนมากเป็นพวกเศษกระดาษ เศษสินค้า ฝุ่นละออง เศษดิน 
                  5. ซากสัตว์ สัตว์ที่ตายตามธรรมชาติ ตายด้วยอุบัติเหตุหรือด้วยโรคต่างๆ 
                  6. ซากรถยนต์ รถยนต์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว
                  7. มูลฝอยจากโรงงาน ขยะที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วแต่ประเภทของโรงงาน
                  8. เศษวัสดุก่อสร้าง เช่น เศษอิฐ เศษปูน เศษกระเบื้อง เศษไม้ หรือเศษวัสดุจากส่วนบ้านเรือน
                  9. ตะกอนจากน้ำโสโครก ที่ได้จากกระบวนการแยกตะกอนจากการปรับปรุงสภาพน้ำทิ้ง รวมทั้งได้จากการลอกท่อระบายน้ำสาธารณะต่างๆ ส่วนมากเป็นพวก เศษดิน หิน ทราย ไม้ 
                  10. ขยะมูลฝอยที่เป็นอันตราย ขยะที่ก่อให้เกิดปัญหาในการเก็บ ขน การกำจัด ตลอดจนการจับต้อง เช่น ใบมีดโกน กระป๋องที่มีการอัดลม ขยะจากโรงพยาบาลสารกัมมันตรังสี เป็นต้น

ขยะมาจากไหน
ขยะมูลฝอยเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งจากการกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกๆไป ตามแหล่งกำเนิด
           ขยะจากอาคาร บ้านเรือน  ที่พักอาศัย   ขยะประเภทนี้จัดอยู่ในขยะทั่วไป ขยะพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเศษอาหาร เศษกระดาษ เศษแก้ว เศษโลหะ เศษไม้ และพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีขยะที่เป็นอันตรายอีก เช่น ซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่เก่า ซากถ่านไฟฉาย กระป๋องสารเคมีที่ใช้ภายในบ้าน เป็นต้น
            ขยะจากกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม   จะมีทั้งขยะที่เป็นอันตราย เช่น กากสารเคมีมีพิษและสารประกอบที่มีโลหะหนักต่างๆ และมูลฝอยที่ไม่เป็นอันตรายซึ่งได้มาจากส่วนสำนักงาน และโรงอาหารของโรงงาน เป็นต้น
             ขยะที่เกิดจากกิจกรรมภาคเกษตรกรรม   ได้แก่ เศษภาชนะที่ใช้บรรจุสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เศษซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ เป็นต้น ขยะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเก็บรวบรวมบำบัด หรือกำจัดอย่างถูกต้อง และเป็นระบบครบวงจร เพื่อจะได้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมต่อไป
           นอกจากนี้ ยังมีแหล่งขยะที่นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นอีก ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความสำคัญมากเช่นกันหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะทำให้เกิดปัญหาและเป็นอันตรายได้ นั่นคือ ขยะจากโรงพยาบาลและสถานที่ศึกษาวิจัย ขยะจากสถานประกอบการในเมือง

เรามาดูกันว่าอะไรย่อยสลายยากที่สุด
โฟม                          500 – 1,000      ปี
ผ้าอ้อมสำเร็จรูป         500                   ปี

ถุงพลาสติก                100 – 450        ปี
อะลูมิเนียม                    0 – 100         ปี
เครื่องหนัง                   25 – 40           ปี
ก้นบุหรี่                       12                   ปี
ถ้วยกระดาษเคลือบ        5                   ปี
เปลือกส้ม                      6                   เดือน
เศษกระดาษ                  2 – 5             เดือน

ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน
          ในปี 2549 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 14.63 ล้านตัน หรือวันละ 40.082 ตัน (ยังไม่รวมข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยก่อนนำมาทิ้งในถัง) เพิ่มจากปี 2548 ประมาณ 0.33 ล้านตัน 

ปริมาณขยะมูลฝอยต่อวัน
           เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร คาดว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บขนได้ประมาณวันละ 8,473 ตัน  คิดเป็นร้อยละ 21 ในขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลและเมืองพัทยาเกิดขึ้นประมาณวันละ 12,912 ตัน คิดเป็นร้อยละ 32 และนอกเขตเทศบาลซึ่งครอบคลุมพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด เกิดขึ้นประมาณวันละ 18,697 ตัน คิดเป็นร้อยละ 47 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ข้อมูลจาก สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย พ.ศ. 2549
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



ข้อมูลดังกล่าวทำให้เราได้เห็นถึงปริมาณการเพิ่มขึ้นของขยะในสังคมไทยในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน 
แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะ มีวีธีการจัดการ อย่างไร ที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันได้ด้วยตัวของเพื่อนๆ เอง...