วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รู้หรือไม่?...ขยะมาจากไหน


ทุกวันนี้คนไทยกว่า 60 ล้านคน สามารถสร้างขยะได้มากถึง 14 ล้านตันต่อปี แต่ความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับมีไม่ถึง 70 % ของขยะที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างตามสถานที่ต่างๆ หรือมีการนำไปกำจัด โดยวิธีกองบนพื้นซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ 
1. อากาศเสีย เกิดจากการเผาขยะมูลฝอยกลางแจ้ง ทำให้เกิดควันและสารมลพิษทางอากาศ
             2. น้ำเสีย เกิดจากการกองขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้น เมื่อฝนตกจะเกิดน้ำเสีย ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้เกิดภาวะมลพิษทางน้ำ
             3. แหล่งพาหนะนำโรค จากขยะมูลฝอยตกค้างบนพื้น จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนูและแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหนะนำโรคติดต่อ ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
             4. เหตุรำคาญและความไม่น่าดู จากการเก็บขยะมูลฝอยไม่หมด ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน

ประเภทของขยะมูลฝอย 
          แบ่งออกเป็นประเภทที่สำคัญๆได้ 10 ประเภท คือ
                  1. เศษอาหาร ขยะจำพวกที่ได้จากห้องครัว การประกอบอาหาร รวมถึงเศษใบตอง เศษผลไม้ อาหารที่เหลือทิ้ง ฯลฯ 
                  2. ของที่ไม่เน่าเหม็น ขยะจำพวกที่ไม่บูดเน่าส่งกลิ่นเหม็น มีความชื้นต่ำ เช่น เศษกระดาษ เศษแก้ว เศษโลหะ เป็นต้น อาจเรียกขยะแห้งก็ได้ 
                  3. เถ้าถ่าน เศษที่เหลือจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง จำพวกไม้ ถ่านหิน 
                  4. มูลฝอยจากถนน เศษสิ่งของต่างๆ ที่ได้จากการกวาดถนน ส่วนมากเป็นพวกเศษกระดาษ เศษสินค้า ฝุ่นละออง เศษดิน 
                  5. ซากสัตว์ สัตว์ที่ตายตามธรรมชาติ ตายด้วยอุบัติเหตุหรือด้วยโรคต่างๆ 
                  6. ซากรถยนต์ รถยนต์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว
                  7. มูลฝอยจากโรงงาน ขยะที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วแต่ประเภทของโรงงาน
                  8. เศษวัสดุก่อสร้าง เช่น เศษอิฐ เศษปูน เศษกระเบื้อง เศษไม้ หรือเศษวัสดุจากส่วนบ้านเรือน
                  9. ตะกอนจากน้ำโสโครก ที่ได้จากกระบวนการแยกตะกอนจากการปรับปรุงสภาพน้ำทิ้ง รวมทั้งได้จากการลอกท่อระบายน้ำสาธารณะต่างๆ ส่วนมากเป็นพวก เศษดิน หิน ทราย ไม้ 
                  10. ขยะมูลฝอยที่เป็นอันตราย ขยะที่ก่อให้เกิดปัญหาในการเก็บ ขน การกำจัด ตลอดจนการจับต้อง เช่น ใบมีดโกน กระป๋องที่มีการอัดลม ขยะจากโรงพยาบาลสารกัมมันตรังสี เป็นต้น

ขยะมาจากไหน
ขยะมูลฝอยเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งจากการกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกๆไป ตามแหล่งกำเนิด
           ขยะจากอาคาร บ้านเรือน  ที่พักอาศัย   ขยะประเภทนี้จัดอยู่ในขยะทั่วไป ขยะพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเศษอาหาร เศษกระดาษ เศษแก้ว เศษโลหะ เศษไม้ และพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีขยะที่เป็นอันตรายอีก เช่น ซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่เก่า ซากถ่านไฟฉาย กระป๋องสารเคมีที่ใช้ภายในบ้าน เป็นต้น
            ขยะจากกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม   จะมีทั้งขยะที่เป็นอันตราย เช่น กากสารเคมีมีพิษและสารประกอบที่มีโลหะหนักต่างๆ และมูลฝอยที่ไม่เป็นอันตรายซึ่งได้มาจากส่วนสำนักงาน และโรงอาหารของโรงงาน เป็นต้น
             ขยะที่เกิดจากกิจกรรมภาคเกษตรกรรม   ได้แก่ เศษภาชนะที่ใช้บรรจุสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เศษซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ เป็นต้น ขยะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเก็บรวบรวมบำบัด หรือกำจัดอย่างถูกต้อง และเป็นระบบครบวงจร เพื่อจะได้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมต่อไป
           นอกจากนี้ ยังมีแหล่งขยะที่นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นอีก ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความสำคัญมากเช่นกันหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะทำให้เกิดปัญหาและเป็นอันตรายได้ นั่นคือ ขยะจากโรงพยาบาลและสถานที่ศึกษาวิจัย ขยะจากสถานประกอบการในเมือง

เรามาดูกันว่าอะไรย่อยสลายยากที่สุด
โฟม                          500 – 1,000      ปี
ผ้าอ้อมสำเร็จรูป         500                   ปี

ถุงพลาสติก                100 – 450        ปี
อะลูมิเนียม                    0 – 100         ปี
เครื่องหนัง                   25 – 40           ปี
ก้นบุหรี่                       12                   ปี
ถ้วยกระดาษเคลือบ        5                   ปี
เปลือกส้ม                      6                   เดือน
เศษกระดาษ                  2 – 5             เดือน

ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน
          ในปี 2549 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 14.63 ล้านตัน หรือวันละ 40.082 ตัน (ยังไม่รวมข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยก่อนนำมาทิ้งในถัง) เพิ่มจากปี 2548 ประมาณ 0.33 ล้านตัน 

ปริมาณขยะมูลฝอยต่อวัน
           เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร คาดว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บขนได้ประมาณวันละ 8,473 ตัน  คิดเป็นร้อยละ 21 ในขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลและเมืองพัทยาเกิดขึ้นประมาณวันละ 12,912 ตัน คิดเป็นร้อยละ 32 และนอกเขตเทศบาลซึ่งครอบคลุมพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด เกิดขึ้นประมาณวันละ 18,697 ตัน คิดเป็นร้อยละ 47 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ข้อมูลจาก สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย พ.ศ. 2549
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



ข้อมูลดังกล่าวทำให้เราได้เห็นถึงปริมาณการเพิ่มขึ้นของขยะในสังคมไทยในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน 
แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะ มีวีธีการจัดการ อย่างไร ที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันได้ด้วยตัวของเพื่อนๆ เอง...