วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การแปรสภาพและการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอย


การนำวัสดุเหลือใช้จากขยะมูลฝอยกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องกำจัด ในขณะเดียวกันก็เป็นการสงวนทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้อีกส่วนหนึ่งด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้อาจใช้วิธีหมุนเวียนวัสดุหรือแปรสภาพขยะมูลฝอยให้เป็นพลังงาน
๑. การแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน
        เราอาจแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นพลังงานได้ ดังนี้คือ
พลังงานความร้อน ได้จากการนำเอาขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับทำไอน้ำร้อน แล้วส่งไปให้ความอบอุ่นตามอาคารบ้านเรือน เช่นที่ทีอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
พลังงานไฟฟ้า ได้จากการนำขยะมูลฝอยไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไอน้ำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าบริการแก่ประชาชน ตัวอย่างเช่น การแปรสภาพของการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขยะมูลฝอยจำนวนมาก และเป็นชนิดที่เผาไหม้ได้เป็นส่วนมาก
๒. การคัดแยกวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้
        วัสดุหลายอย่างในขยะมูลฝอยที่อาจนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น กระดาษ แก้ว ขวด พลาสติก เหล็กและโลหะอื่น ๆ การคัดเลือกวัสดุต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในขยะมูลฝอยเพื่อนำกลับไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อีก นับได้ว่ามีการปฏิบัติกันมาช้านาน จะเห็นได้ว่าตามกองขยะมูลฝอยทุแห่งมีบุคคลกลุ่มหนึ่งไปคอยคุ้ยเขี่ยเก็บวัสดุจากกองขยะมูลฝอยตลอดเวลาเพื่อหารายได้
การเก็บวัสดุจากกองขยะมูลฝอยนั้น อาจจะเกิดผลเสีย คือ
        ๑. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้แยกวัสดุจากกองขยะมูลฝอยที่อาจเป็นอันตรายเนื่องมาจากความสกปรกของขยะมูลฝอยซึ่งมีได้ทั้งเชื้อโรคและสารพิษ รวมทั้งของมีคมวัตถุระเบิด และสารกัมมันตรังสี เป็นต้น
        ๒. ปัญหาจากการที่นำเอาวัสดุที่เก็บมาได้เอามากองรวม ๆ กันเพื่อรอจำหน่ายนั้น ทำให้เกิดกองขยะขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสกปรกรกรุงรังเป็นที่อาศัยของสัตว์และแมลงนำโรค เป็นภาพที่น่ารังเกียจ ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
        ๓. การนำขยะมูลฝอยไปถมที่ดินเพื่อปรับปรุงสภาพ
ขยะมูลฝอยเกือบทุกชนิดสามารถนำไปใช้สำหรับถมที่ดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เช่น บ่อดินลูกรังที่น้ำท่วม เหมืองร้าง ฯลฯ ทำให้ที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ราบเรียบ ใช้ประโยชน์ได้มามายหลายประการ เช่น ทำสนามกีฬา สนามกอล์ฟ สวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แม้กระทั่งสร้างเป็นอาคารที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย ในต่างประเทศมีการใช้พื้นที่ดินที่เกิดจากการถมด้วยขยะมูลฝอยแบบการฝังกลบและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
        ประเทศไทยก็ได้ใช้ขยะมูลฝอยไปถมที่ทำประโยชน์ เช่นที่สวนจตุจักร ซึ่งเดิมเป็นที่ลุ่มน้ำท่วม แลเต็มไปด้วยพงหญ้ารกมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ต่อมาได้มีการนำเอาขยะมูลฝอยจากสถานกำจัดขยะดินแดงมากถมที่บริเวณสวนจตุจักร และปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย มีอะไรบ้าง?

         ขยะมูลฝอยมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทำให้เกิดการปนเปื้อนของพื้นดิน แหล่งน้ำและอากาศ ทำให้บ้านเมืองไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เป็นที่เจริญตาของผู้ที่ได้พบเห็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป การแก้ไขปัญหาของขยะมูลฝอย จึงควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขผลเสียที่จะเกิดขึ้น สำหรับการป้องกันและแก้ไขที่ดีควรพิจารณาถึงต้นเหตุที่ก่อให้เกิดขยะมูลฝอยขึ้นมา ซึ่งก็คงจะหมายถึง มนุษย์ หรือผู้สร้างขยะมูลฝอย นั้นเอง
      การป้องกันและการแก้ไขปัญหาของขยะมูลฝอยเริ่มต้นด้วยการสร้างจิตสำนึกแก่มนุษย์ให้รู้จักรับผิดชอบในการรักษาความสะอาดทั้งในบ้านเรือนของตัวเอง และภายนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สถานที่ทำงาน หรือที่สาธารณะอื่น ๆ ให้รู้จัดทิ้งขยะมูลฝอยลงในภาชนะให้เป็นที่เป็นทาง ไม่มักง่ายทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ทั้งนี้เป็นการช่วยให้พนักงานเก็บขยะนำไปยังสถานที่กำจัดได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
การเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย
การเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยเพื่อส่งไปกำจัดที่สถานกำจัดขยะมูลฝอย มีขั้นตอนดังนี้
๑. การเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย
     การเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย คือการเก็บขยะมูลฝอยใส่ไว้ในภาชนะ เพื่อรอพนักงานเก็บขยะมูลฝอยมาเก็บขนไปเทใส่รวบรวมในรถบรรทุกขยะ และการที่พนักงานกวาดถนนเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยไว้ให้รถขยะ ขยะมูลฝอยที่รวบรวมจากแหล่งต่าง ๆ จะถูกนำไปถ่ายใส่ในรถบรรทุกขยะเพื่อที่จะขนส่งต่อไปยังสถานกำจัดขยะมูลฝอย
การเก็บรวบรวมขยะที่ถูกต้องภายในบ้านควรใช้ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด น้ำไม่สามารถจะรั่วซึมได้ เช่น ถังเหล็กหรือถังพลาสติก การใช้ถังเหล็กอาจจะผุกร่อนได้ง่ายกว่าถังพลาสติกไม่ควรใช้เข่งในการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย
๒. การขนส่งขยะมูลฝอย
         การขนส่งขยะมูลฝอย เป็นการนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้จากแหล่งชุมชนต่าง ๆ ใส่ในรถบรรทุกขยะเพื่อนำไปยังสถานที่กำจัด ซึ่งอาจเป็นการขนส่งโดยตรงจากแหล่งกำเนิดขยะมูลฝอยไปยังสถานกำจัดเลยทีเดียว หรืออาจขนขยะมูลฝอยไปพักที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สถานีขนถ่ายขยะก่อนจะนำไปยังแหล่งกำจัดก็ได้
๓. การกำจัดขยะมูลฝอย
        วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายวิธี เช่น นำไปกองทิ้งบนพื้นดิน นำไปทิ้งลงทะเล หมักทำปุ๋ย เผากลางแจ้ง เผาในเตาเผาขยะ และฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการ เป็นต้น การกำจัดขยะมูลฝอยดังที่กล่าวนั้น บางวิธีก็เป็นการกำจัดที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดสภาวะเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม และมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนด้วย
วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกหลักวิชาการ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
        (๑) ไม่ทำให้บริเวณที่กำจัดขยะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลงนำโรค เช่นแมลงวัน ยุง และแมลงสาบ เป็นต้น
        (๒) ไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนแก่แหล่งน้ำและพื้นดิน
        (๓) ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
     (๔) ไม่เป็นสาเหตุแห่งความรำคาญ อันเนื่องมาจาก เสียง กลิ่น ควัน ผงและฝุ่นละออง
วิธีการกองทิ้งบนดิน การนำไปทิ้งทะเลรวมทั้งการเผากลางแจ้ง ถือว่าเป็นวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษต่อสภาพแวดล้อม สำหรับวิธีที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นวิธีกำจัดที่ถูกต้อง คือ การเผาในเตาเผา การฝังกลบ และการทำปุ๋ย
การกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เตาเผาขยะ
       การเผาในเตาเผา เป็นการเผาไหม้ทั้งส่วนที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ซึ่งต้องใช้ความร้อนระหว่าง ๑,๓๐๐-๑,๘๐๐ องศาฟาเรนไฮต์จึงจะทำให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากความแตกต่างและลักษณะขององค์ประกอบของขยะมูลฝอยในแต่ละแห่ง ดังนั้นรูปแบบของเตาเผา จึงแตกต่างกันไปด้วย เป็นต้นว่า ถ้าชุมชนที่มีขยะมูลฝอยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เผาไหม้ได้ง่าย เตาเผาขยะอาจใช้ชนิดที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นช่วยในการเผาไหม้ แต่ถ้าองค์ประกอบของขยะมูลฝอยมีส่วนที่เผาไหม้ได้ง่ายต่ำกว่าร้อยละ ๓๐ (โดยน้ำหนัก) หรือมีความชื้อมากกว่าร้อยละ ๕๐ เตาเผาที่ใช้ต้องเป็นชนิดที่ต้องมีเชื้อเพลิงช่วยในการเผาไหม้
นอกจากนี้เตาเผาขยะมูลฝอยทุกแบบ จะต้องมีกระบวนการควบคุมอุณหภูมิ ควัน ไอเสีย ผลและขี้เถ้าที่อาจปนออกไปกับควันและปลิวออกมาทางปล่องควัน เตาเผาที่มีประสิทธิภาพจะต้องลดปริมาณของขยะมูลฝอยลงไปจากเดิมให้มีเหลือน้อยที่สุด และส่วนที่เหลือกจากการเผาไหม้นั้นก็จะต้องมีลักษณะคงรูป ไม่มีการย่อยสลายได้อีกต่อไป และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย
ข้อดี
        ๑. ใช้พื้นที่ดินน้อย เมื่อเทียบกับวิธีผังกลบ
        ๒. สามารถทำลายขยะมูลฝอยได้เกือบทุกชนิด
        ๓. สามารถสร้างเตาเผาในพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดขยะ ทำให้ประหยัดค่าขนส่ง
        ๔. ไม่ค่อยกระทบกระเทือนเมื่อสภาพแวดล้อมของลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง
       ๕. ส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้ (ขี้เถ้า) สามารถนำไปถมที่ดินได้ หรือทำวัสดุก่อสร้างได้
ข้อเสีย
      ค่าลงทุนในการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม บำรุงรักษาค่อนข้างสูง และอาจจะเกิดปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศได้
การกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการฝังกลบ
วิธีการฝังกลบที่ถูกสุขลักษณะนั้น จะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสุขภาพแวดล้อม รวมทั้งเหตุรำคาญอื่น ๆ เช่น กลิ่นเหม็น ควัน ฝุ่นละออง และการปลิวของกระดาษ พลาสติกและอื่น ๆ ซึ่งจะต้องควบคุมให้อยู่ภายในขอบเขตจำกัด ไม่ทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่ทัศนียภาพของพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังจะต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลดังนี้
        ๑. ต้องควบคุมไม่ให้มีการนำของเสียอันตรายมากำจัดรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไปในบริเวณที่ฝังกลบขยะ นอกจากจะมีมาตรการการกำจัดโดยวิธีการพิเศษตามลักษณะของของเสียนั้น ๆ
        ๒. ต้องควบคุมให้ขยะที่ฝังกลบถูกกำจัดอยู่เฉพาะภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ทั้งบนพื้นผิวดินและใต้ดิน
        ๓. ต้องกำจัดน้ำเสียจากกองขยะอย่างถูกต้อง
        ๔. ต้องตรวจสอบอยางสม่ำเสมอ เช่นตรวจสอบการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณใกล้เคียง
        ๕. ต้องคำนึงถึงทัศนียภาพของพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง เช่น การจัดให้มีสิ่งป้องกันการปลิวของขยะหรืออาจปลูกต้นไม้ล้อมรอบเป็นต้น
วิธีการฝังกลบขยะมูลฝอย อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ คือ
๑. แบบถมที่ เป็นการฝังกลบขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่เป็นหลุม เป็นบ่อ หรือ เป็นพื้นที่ที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว และต้องการถมให้พื้นที่แห่งนั้นสูงขึ้นกว่าระดับเดิม เช่น บริเวณที่ดินที่ถูกขุดออกไปทำประโยชน์อย่างอื่นมาก่อนแล้ว เป็นต้น ในพื้นที่เช่นนี้เราเทขยะมูลฝอยลงไป แล้วเกลี่ยขยะให้กระจายพร้อมกับบดทับให้แน่น จากนั้นก็ใช้ดินกลบ แล้วจึงบดทับให้แน่นอีกเป็นครั้งสุดท้าย
๒. แบบขุดเป็นร่อง เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบในพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นที่สูงอยู่แล้ว และไม่ต้องการที่จะให้พื้นที่แห่งนั้นสูงเพิ่มขึ้นไปอีก หรือสูงขึ้นไม่มากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอยให้ได้จำนวนมาก ๆ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีขุดเป็นร่องก่อน การขุดร่องต้องให้มีความกว้างประมาณ ๒ เท่าของขนาดเครื่องจักรที่ใช้ เพื่อความสะดวกต่อการทำงานของเครื่องจักร และมีความยาวตลอดพื้นที่ที่จะฝังกลบ ส่วนความลึกขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน จะลึกเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่ให้ถึงระดับน้ำใต้ดิน ส่วนมากจะขุดลึกประมาณ ๒-๓ เมตร และต้องทำให้ลาดเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อไม่ให้น้ำขังในร่องเวลาฝนตก ดินที่ขุดขึ้นมาจากร่องก็กองไว้ทางด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับใช้เป็นดินกลบต่อไป นอกจากนั้นยังสามารถใช้ทำเป็นคันดิน สำหรับกั้นมิให้ลมพัดขยะออกไปนอกบริเวณได้อีกด้วย ส่วนวิธีการฝังกลบขยะมูลฝอยก็ทำเช่นเดียวกับแบบถมที่คือเมื่อเทขยะมูลฝอยลงไปในร่องแล้วก็เกลี่ยให้กระจายบดทับแล้วใช้ดินกลบและบดทับอีกครั้งหนึ่ง
การทำปุ๋ย
        ขยะมูลฝอยส่วนที่เป็นขยะเปียกนั้น ส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย ดังนั้นการนำไปกองทิ้งไว้ก็จะบูดเน่าและส่งกลิ่นเหม็นแต่ถ้านำขยะส่วนนี้ไปหมักด้วยวิธีการที่ถูกต้อง กลิ่นเหม็นจะลดลงไปได้อย่างมาก นอกจากนั้นผลิตผลที่ได้ยังสามารถไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับบำรุงดินเพื่อการเกษตรได้อีกด้
การหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำเป็นปุ๋ยนั้น เป็นการอาศัยกระบวนการทางชีววิทยา ซึ่งจุลินทรีย์จะย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุที่ค่อนข้างจะคงรูปและมีคุณประโยชน์ต่อพืชนอกจากนี้ของที่หมักได้ที่แล้วจะมีปริมาตรลดลงประมาณร้อยละ ๓๐-๖๕ และยังสามารถทำลายจุลินทรีย์บางชนิดที่อาจทำให้เกิดโรคได้อีกด้วย

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

สาเหตุปัญหาขยะในเมืองไทย

          ปัญหาขยะในเมืองไทย เป็นปัญหาโลกแตก เป็นเวลาหลายสิบปีที่เจ้าหน้าที่ทางราชการ หน่วยงานวิจัย สถาบันทางการศึกษา พยายามหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะล้นเมือง ไม่มีที่ใดยอมให้ก่อสร้างโรงกำจัดขยะใกล้ที่อยู่อาศัยของตนเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆที่เสียงบประมาณตั้งมากมายพาเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่ต่างประเทศ ใช้งบประมาณในการรณรงค์ให้ความรู้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ มีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถจะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ แต่ปัจจุบันยังไม่มีที่ไหนในประเทศไทย สามารถจัดการขยะได้อย่างครบวงจรเป็นที่พึงพอใจของคนทุกฝ่าย เพื่อให้ง่ายสรุปได้เป็นข้อๆดังนี้
          1.ประชาชนยังยึดติดกับการแก้ไขปัญหาขยะแบบเดิมๆ สถานที่มีกลิ่นเหม็น สกปรกไม่น่าชวนมอง จนทำให้ไม่มีใครยอมที่จะให้มีการสร้างโรงกำจัดขยะในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตนเองอยู่อาศัย เนื่องจากว่าก็ยังไม่มีที่ใดในประเทศไทย มีระบบจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จ สะอาด สถานที่น่าชวนมองอย่างที่ไปดูงานที่ต่างประเทศ

          2.เทศบาลไม่มีแหล่งกำจัดขยะเนื่องจากสาเหตุข้อแรก เพราะไม่รู้ว่าจะชี้แจงยังไงให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ จึงต้องนำขยะไปทิ้งในพื้นที่ห่างไกล นอกพื้นที่ ในป่า สถานที่รกร้าง สร้างปัญหาให้กับชุมชนในพื้นที่นั้นๆตามมา

          3.ทุกคนยังมองไม่เห็นคุณค่าของขยะเพราะว่ามีมูลค่าเล็กน้อย  ไม่ทราบว่าขยะบางชนิดมีมูลค่า เมื่อแยกขยะแล้วจะไปขายที่ไหนหรือมีวิธีใดบ้างที่จะจัดการขยะได้โดยเปลี่ยนให้เป็นรายได้เข้ามา

          4.เนื่องจากทางภาครัฐยังไม่มีสถานที่และวีธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาขยะ มีการกำจัดขยะที่สามารถรองรับการแยกขยะได้ จึงทำให้โครงการรณรงค์ให้ประชนคัดแยกขยะ ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟางในช่วงต้นๆ แต่เมื่อประชาชนคัดแยกขยะแล้วกลับไม่มีการเก็บขยะแบบแยก เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ขยะเศษอาหารถูกเก็บนำไปปนกับขยะทั่วไปเช่นเดิม 
 
          5.การหาวิธีการจัดการขยะยังไม่ลงลึกเพียงพอในการแก้ไขปัญหาขยะตามสถุานที่อยู่อาศัยที่ต่างๆกัน  บ้านเรือน  ตลาดสด  อาคารพาณิชย์  โรงเรียน อาคารสูงอย่างโรงแรมและคอนโดมิเนียม ชมชนชนบท บางที่สามารถกำจัดขยะได้ด้วยตัวเอง บางที่ทำได้เพียงแยกขยะ ทำให้แต่ละที่จะต้องมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน เราสงเสริมให้ประชาชนทำปุ๋ยจากขยะ แต่ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารสูง อาคารพาณิชย์ ไม่รู้ว่าจะเอาปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรเพราะไม่ได้มีพื้นที่ปลูกพืช นี่เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงการใช้วิธีจัดการขยะอย่างไม่เหมาะสมกับสถานที่

          6.เทคโนโลยีที่ใช้กำจัดขยะ สามารถกำจัดขยะได้เฉพาะขยะแยกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมักจากขยะ การทำก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหาร การนำขยะมาเผาเป็นพลังงานความร้อนเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า แต่ขยะที่เข้าสู่กระบวนการกำจัดยังไม่ได้แยกอย่างสมบูรณ์ ทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวประสบปัญหาในการดำเนินการ

          7.การขัดผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ฝังกลบขยะ โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาระบบกำจัดขยะจึงถูกระงับ ถูกต่อต้านจากชุมชนโดยมีผู้มีอิทธิผลที่เสียผลประโยชน์หนุนอยู่ภายหลัง

          จากสาเหตุหลักๆเหล่นนี้ทำให้การแก้ไขปัญหาขยะ ยังคงไม่มีความคืบหน้าและก่อให้เกิดปัญหาหนักขึ้นทุกวัน ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะจึงต้องมีการปรับเปลี่ยน แนวทาง วิธีการ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ที่มีสถานที่แตกต่างกัน  ใช้ลักษณะเด่นของแต่ละพื้นที่มาแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ อย่างเช่น

          1.ในชุมชนที่ห่างไกลจากตัวเมือง มีพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร เป็นชุมชนที่มีความต้องการปุ๋ยหมักจากขยะเพราะต้องใช้ในการเพาะปลูก การใช้ปุ๋ยหมักจากขยะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งน่าจะมีการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อทำโครงการปุ๋ยหมักจากขยะสด ขยะเศษผักเศษอาหาร เพื่อความยั่งยืนในการทำการเกษตร และเป็นการช่วยภาครัฐในการแก้ไขปัญหาขยะ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ

          2.ในชุมชนเมืองใหญ่ มีปริมาณขยะเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดสด ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร เป็นแหล่งผลิตขยะที่สามารถย่อยสลายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งขยะที่ว่านี้เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำมาผลิตปุ๋ยหมักเนื่องจากมีการเจือปนของขยะชนิดอื่นเช่นพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว น้อย หากมีการทำข้อตกลงร่วมในการส่งขยะที่คัดแยกแต่เศษผักเศษอาหารให้กับกลุ่มเกษตรกร ก็จะสามารถทำขยะที่เคยเป็นปัญหา เป็นประโยชน์ขึ้นมาได้

          3.การจัดพื้นที่ให้มีการรับซื้อขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ประจำเดือนตามชุมชนต่างๆ โดยขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าของเก่า เริ่มต้นโดยการะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงราคาที่รับซื้อของขยะชนิดต่างๆ สถานที่รับซื้อ และวันเวลาที่จะมารับซื้อเป็นประจำ วีธีการนี้จะทำให้ผู้ค้าของเก่ามีผู้ใช้บริการมากขึ้น มีปริมาณขยะที่จะนำส่งโรงงานรีไซเคิลได้มากขึ้น ประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากการแยกขยะและเก็บสะสมขยะเพื่อจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในภาวะที่ข้าวของทุกอย่างมีราคาแพง 
 
          4.บ้านที่อยู่อาศัย มีบริเวณบ้านที่เป็นสวน สามารถแยกขยะเศษอาหารกำจัดเองได้ โดยทำบ่อฝั่งย่อยสลายเสษอาหารได้ ทำให้ขยะที่จะทำการกำจัด ไม่มีขยะเศษอาหารปนอยู่ ไม่เกิดกลิ่นเหม็น ทำให้การแยกขยะเพื่อรีไซเคิลทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ การแยกขยะที่ต้นทางสามารถทำได้ดีกว่าการแยกขยะที่ปลายทาง

          5.ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารสูงอย่าง อาคารพาณิชย์  ตึกแถว หอพัก คอนโดมิเนียม ผู้ที่อยู่อาศัยประเภทนี้ไม่สามารถกำจัดขยะด้วยตัวเองได้ เนื่องจากข้อกำจัดในพื้นที่ ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในอาคารประเภทนี้ ทำได้เพียงแยกขยะระหว่างเศษอาหาร ขยะทั่วไปที่สามารถรีไซเคิลได้และไม่สามารถรีไซเคิลได้ ทางเทศบาลหากสามารถกำจัดแบบแยกประเภทได้ มีการทำปุ๋ยจากเศษอาหาร อาจจะทำการเก็บขยะแบบแยกประเภท เช่น แยกสีถุง ขยะที่ย่อยสลายได้แยกถุงเป็นอีกสีหนึ่งเพื่อเทศบาลจะได้แยกจัดเก็บเพื่อไปทำปุ๋ยต่อไป ส่วนขยะทั่วไปที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ จะแยกเก็บเป็นถุงดำเพื่อนำไปคัดแยกหรือกำจัดต่อไป

          6.การเริ่มทำการกำจัดแบบคัดแยก อาจะเริ่มโดยจำกัดพื้นที่ก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเริ่มต้นประชาสัมพันธ์ อย่างเช่น การขอความร่วมมือกับ ตลาดสดแห่งใดแห่งหนึ่งก่อนเพื่อขอขยะที่คัดแยกเฉพาะเศษผักเศษอาหารเพื่อใช้ในการทำปุ๋ย โรงแรมแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้มีการคัดแยกขยะ ให้ห้องพักทุกห้องมีถึงขยะแยกประเภทระหว่างขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไปเพื่อรอกำจัด หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งที่จะมีการเก็บขยะแบบแยกประเภท เกษตรกรกลุ่มหนึ่งพื่อทำปุ๋ยหมัก เมื่อเริ่มต้นในจุดเล็กๆสำเร็จย่อมจะเป็นตัวอย่างในการดูงานให้กับพื้นที่อื่นๆที่จะนำมาเข้าร่วมโครงการต่อไป